วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

การวางแผนการสอน

รายละเอียดเนื้อหาสาระ (Subject Module)
ความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
            มีคำที่สำคัญที่จะต้องเข้าใจความหมายอย่างกระจ่างชัดเจน คือ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนดังนี้
            การเรียนหรือการเรียนรู้  การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม (พิมพันธ์  เดชะคุปต์, 2542) ในแดนวคิดดังกล่าวนี้ ออซูเบล (Ausubel,1993)ได้อธิบายว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Verbal Learning) จะเกิดขึ้นได้หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีมาก่อน นอกจากนั้น (Bruner, 1965) ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กว่า เด็กเริ่มต้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) ต่อไปจึงจะสามารถสร้างจิตนาการหรือสร้างภาพในใจหรือในความคิดขึ้นได้ (Symbolic Stage) ส่วนกาเย่ (Gagne,1965) ได้อธิบายเกี่ยวกับผลของการเรียนรู้ของมนุษย์ว่ามี 5 ประเภท คือ
1.      ทักษะทางปัญญา (Intellectual Skills) ซึ่งประกอบด้วยทักษะย่อย 4 ระดับ คือ การจำแนกการสร้างความคิดรวบยอด การสร้างกฎ และการสร้างกระบวนการหรือกฎขั้นสูง
2.      กลวิธีในการเรียนรู้ ( Cognitive Strategies) ประกอบด้วยกลวิธีการใส่ใจ การรับและทำความเข้าใจข้อมูล การดึงความรู้จากความทรงจำ การแก้ปัญหา และกลวิธีการคิด
3.      ทักษะทางภาษา (Verbal Information)
4.      ทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skills)
5.      เจตคติ (Attiude)

การสอน หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ไปสู้ผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายการเรียนรู้
ระบบการสอน หมายถึง การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างมีขั้นตอน มีระบบระเบียบที่จะทำให้การสอนนั้นบรรลุจุดมุ่งหมายการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การสอน หมายถึง ยุทธวิธีในการที่จะคิดให้ได้หลักการเรียนการสอน กระบวนการ วิธีการและเทคนิคที่นำมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการสอน
หลักการสอน หมายถึง ความเชื่อ ปรัชญา ทฤษฎี หลักการเกี่ยวกับการสอน ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวางรูปแบบ กระบวนการ และวิธีการสอน
รูปแบบการจัดการเรียนการสอน หมายถึง สภาพหรือลักษณะของการเรียนการสอนที่จัดขึ้นตามปรัชญา ทฤษฎี หลักการ แนวความคิด และหรือความเชื่อต่างๆ โดยอาศัยวิธีการสอน และเทคนิคการสอนต่างๆ เข้ามาช่วยให้สภาพการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักการที่ยึดถือ
วิธีการสอน หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ บรรลุเป้าหมาย วิธีการสอนแต่ละวิธีย่อมประกอบไปด้วยลักษณะอันเป็นจุดเด่นเฉพาะของวิธีการนั้นๆ และกระบวนการอันเป็นหลักในการดำเนินการตามวิธีการนั้น
เทคนิคการสอน หมายถึง กลเม็ดต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้วิธีการหรือกระบวนการใดๆ ในการจัดการเรียนการสอนบรรลุตามจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (วัฒนาพร , 2532)
ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนกับการสอน
                จากความหมายของคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น จะให้ได้ว่า การเรียนกับการสอนเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เดียวกัน คือ การสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การสอนเกิดขึ้นจากตัวผู้สอนหรือครู แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป (หมายรวมเฉพาะการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ให้เกิดขึ้น มีการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้า)
            รูปแบบการจัดกระบวนการการเรียนการสอน
            ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน มีจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ บรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ตามที่ได้กำหนดไว้ (รายละเอียดเรื่องจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ได้เสนอไว้ในหัวข้อของแผนการสอน) โดยมุ่งหวังในภาพรวมที่จะให้ผู้เรียนเมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว จะมีคุณลักษณะที่สำคัญ 3  ประการ คือ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และเป็นคนที่มีความสุข ซึ่งในการที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวนั้น การจัดกระบวนการเรียนการสอนจะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
            1. เป็นกระบวนการทางปัญญา พัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. บูรณาการสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้อง
4. เป็นกระบวนการคิด การปฏิบัติจริง นำไปใช้ประโยชน์ได้
5. เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้เรียน ผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

หลักการจัดกระบวนการเรียนการสอน
                ในการที่จะจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีลักษณะที่ต้องการดังกล่าว มีหลักการที่พัฒนา มาจากหลักการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนี้
            หลักการเรียน
หลักการเรียนรู้มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดสำคัญดังนี้
            1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง โดยมีครูหรือผู้สอนเป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างองค์ความรู้
            2. สังคมการเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
            3. อาศัยการแสดงออกทางภาษา ได้แก่ การพูดและการเขียน เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้
                 จากแนวความคิดสำคัญดังกล่าว ได้นำมากำหนดหลักการเรียนรู้ ดังนี้
           1. เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
           2. ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning
           3. มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้ สอน
           4. ปฎิสัมพันธ์ทำให้มีการขยายตัวของเครือข่ายการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
           5. มีการสื่อสารโดยการพูดหรือการเขียนในการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากหลักการเรียนรู้ดังกล่าว ได้นำมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดหลักการสอน

หลักการสอน
จากการเรียนรู้ดังกล่าว ได้นำมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดหลักการสอนดังนี้
1. จัดการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่งถึงและมากที่สุด
2. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ
3. ยึดการค้นพบด้วยตนเองของผู้เรียน
4. เน้นกระบวนการเรียนรู้ควบคู้กันไปกับผลการเรียนรู้หรือผลงาน
5. เน้นการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง
      การจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือเน้นผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะดังนี้
1.      มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
2.      ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
3.      ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย
4.      ผู้เรียนสามารถนำวิธีการเรียนรู้และองค์ความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้
5.      ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน
       การออกแบบการจัดการเรียนการสอน
จากหลักการเรียนรู้และหลักการสอนดังกล่าวข้างต้น  สามารถนำมาเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบการจัดการการเรียนการสอนไว้มากมาย  แต่การออกแบบการจัดการการเรียนการสอนที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงและบรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้อย่างดี  คือ  การออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ  ซึ่งแสดงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของระบบการออกแบบการจัดการเรียนการสอน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น